ข้อนิเทศเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของ กศน.
การดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในส่วนของ กศน. ที่ผ่านมา มีการแยกส่วนการทำงาน โดยหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ กลุ่มแผนงาน และหน่วยศึกษานิเทศก์ ทำให้การดำเนินงานไม่สามารถมองเห็นภาพรวมอย่างเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับสถานศึกษาที่จำเป็นต้องบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่กิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบ การศึกษาต่อเนื่อง/หลักสูตรระยะสั้น และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งนอกจากจะต้องพัฒนาครู กศน. ให้ความรู้ความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาบุคคลากรในสถานศึกษา กศน.ทุกคน ให้สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองให้เป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต่อมาสำนักงาน กศน.ได้กำหนดให้กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ดูแลการดำเนินงานในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงาน กศน.และประชาสัมพันธ์ผลงานที่ผ่านมาตลอดจนการวางแผนพัฒนาต่อไปในอนาคต รวมทั้งเป็นแกนกลางในการประสานงานเพื่อให้กอง/ศูนย์ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ซึ่งมีประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไป ดังนี้
- การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีความรู้ความเข้าใจจนสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนที่จะไปดำเนินการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา กศน.ทุกระดับ ซึ่งจะทำให้สถานศึกษามีความเข้าใจสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งผลให้สถานศึกษาสามารถเสนอตนเองเข้าขอรับการประเมินการเป็นสถานศึกษาแกนนำในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
- สมศ. ได้กำหนดให้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอก ซึ่งควรย้ำเน้นให้สถานศึกษาได้ทราบและปฏิบัติอย่างจริงจัง
- ที่ผ่านมางบประมาณส่วนใหญ่ได้จัดสรรเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษา แต่ยังไม่ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา เป็นเพียงการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน จึงเห็นสมควรสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาบุคลากรทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ
|